ธุรกิจที่อยากมีถังน้ำมันไว้ใช้เองในกิจการ ต้องทำอย่างไร

ศึกษาข้อมูลและเลือกประเภทของถังน้ำมันที่เหมาะกับการใช้งาน และเพื่อเป็นไปตามกฎหมายกำหนด

เพราะระบบขนส่ง เป็นเหมือนฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งหากมองรวมกันในภาพใหญ่แล้ว การขนส่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน และ "น้ำมัน" ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบขนส่ง เพราะเป็นปัจจัยในการกำหนดต้นทุนการขนส่งที่ทุกธุรกิจและทุกกิจการจะต้องเจอกับความผันผวนด้านราคาอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากราคากลางในตลาดน้ำมันดิบโลก หรือผลกระทบต่าง ๆ ภายในประเทศของเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น กิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือต้องใช้น้ำมันปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง จึงควรมี "ถังน้ำมัน" และอุปกรณ์ระบบจัดการน้ำมันไว้ใช้เองในกิจการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการออกแบบ ติดตั้งถังน้ำมันเหล็ก หรือวัสดุอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างสะดวก ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีที่ทำให้การใช้งานง่ายขึ้น

 

ข้อดีของการที่ธุรกิจมีถังน้ำมันไว้ใช้เองในกิจการ เช่น

  • ทำให้ประหยัดต้นทุนการใช้น้ำมัน เพราะการที่ธุรกิจหรือกิจการมีถังสำหรับจัดเก็บน้ำมัน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อลิตรที่ต้องเสียไปกับการซื้อน้ำมันแบบปลีก หรือที่ต้องไปเติมที่ปั๊มน้ำมันได้มากกว่า 2 บาทต่อลิตร ซึ่งหากมองในระยะยาวแล้ว จะทำให้ธุรกิจประหยัดเงินได้อย่างคุ้มค่าแน่นอน

  • สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้น้ำมันได้อย่างละเอียด ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าซึ่งประยุกต์ใช้ได้ในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่แวดวงการให้บริการน้ำมัน ก็สามารถประยุกต์ใช้ช่องทางออนไลน์ตลอดจนแอปพลิเคชันในการติดตามและตรวจสอบการใช้น้ำมันภายในกิจการได้จากทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็น รายชื่อผู้เติม จำนวนการเติม วันที่ เวลา และสถานที่เติมน้ำมัน เป็นต้น ช่วยลดปัญหาการทุจริตหรือยักยอกน้ำมันภายในกิจการได้อีกด้วย

  • ช่วยในการวางแผนจัดการการใช้น้ำมันของธุรกิจได้ง่าย ด้วยการควบคุมการใช้น้ำมันภายในกิจการได้ด้วยตัวเอง ที่มาพร้อมกับโปรแกรมจัดเก็บบันทึกรายละเอียดที่ทำออกมาเป็นรายงาน ทำให้ท่านสามารถมองเห็นภาพรวมทั้งด้านพฤติกรรมการใช้น้ำมันของพนักงานในแต่ละช่วงเวลา ตลอดจนน้ำมันที่ใช้กับยานพาหนะแต่ละประเภท ว่ามีต้นทุนและการใช้งานเท่าไร รวมถึงหากมีการใช้น้ำมันมากผิดปกติในบางจุด ก็จะทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบหาสาเหตุว่าเกิดจากส่วนใด หรือยานพาหนะใดที่เสียหายจำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุงแก้ไข ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วและทันท่วงที เป็นต้น

 

3 ขั้นตอนเพื่อการติดตั้งถังน้ำมันไว้ใช้เองในธุรกิจและกิจการ

ไม่ว่าท่านจะทำธุรกิจหรือกิจการประเภทใด ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจการเกษตรและเครื่องจักรกลด้านการเกษตร ธุรกิจด้านการขนส่งโลจิสติกส์ ธุรกิจก่อสร้าง กิจการเหมืองแร่ การทำประมง ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ฯลฯ ก็สามารถมีถังน้ำมันที่บรรจุเชื้อเพลิงพร้อมใช้ในกิจการของตนเองได้ โดยมีขั้นตอนที่ควรทราบดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลและเลือกประเภทของถังน้ำมันที่เหมาะกับการใช้งาน
ท่านเจ้าของธุรกิจและกิจการจำเป็นต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชนิดของน้ำมัน และประเภทของถังน้ำมัน เพื่อให้ง่ายต่อการประเมินเบื้องต้นว่ากิจการของท่านนั้นต้องใช้น้ำมันและถังเก็บรูปแบบใด รวมถึงการเกี่ยวข้องกับการนำไปทำเรื่องขออนุญาตมีถังน้ำมันไว้ใช้ในกิจการ โดยข้อมูลที่กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานได้ระบุไว้ถึงชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิง และภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่

ชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการประกอบกิจการ มี 3 ชนิด คือ
1.) ชนิดไวไฟน้อย มีจุดวาบไฟตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป เช่น น้ำมันดีเซล, น้ำมันเตา, น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น
2.) ชนิดไวไฟปานกลาง มีจุดวาบไฟระหว่าง 37.8 - 60 องศาเซลเซียส เช่น น้ำมันก๊าด, น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเติมเครื่องบิน เป็นต้น
3.) ชนิดไวไฟมาก มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เช่น น้ำมันเบนซิน, น้ำมันปิโตรเลียมดิบ เป็นต้น

ประเภทภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง
นอกเหนือจากภาชนะขนาดเล็ก ที่เป็นขวดแก้วความจุ 0.5 - 1 ลิตร และกระป๋องพลาสติกหรือเหล็กเคลือบดีบุก ความจุไม่เกิน 20 ลิตรแล้วนั้น น้ำมันจะถูกเก็บในถังน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.) ถังน้ำมันเหล็กหรือพลาสติก ความจุเชื้อเพลิงไม่เกิน 227 ลิตร
2.) ถังน้ำมันเหล็ก ความจุเชื้อเพลิงเกินกว่า 227 ลิตร
3.) ถังขนส่งน้ำมัน ที่ทำด้วยเหล็กหรืออลูมิเนียมอัลลอย ไม่จำกัดปริมาณ

นอกจากข้อมูลข้างต้นที่ท่านเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบธุรกิจต้องทราบว่าจะใช้น้ำมันกี่ชนิด และต้องใช้ถังน้ำมันขนาดใดแล้ว ยังต้องพิจารณาข้อมูลส่วนอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจ เช่น
• เลือกซื้อถังน้ำมันประเภทใด เนื่องจากมีให้เลือกทั้งถังน้ำมันเหล็ก ถังน้ำมันพลาสติก ถังน้ำมันสแตนเลส เป็นต้น เนื่องจากมีความเหมาะสมต่อการใช้งานที่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัย ถังน้ำมันที่เลือกใช้และสถานีบริการควรจะต้องมีใบรับรอง โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เซ็นรับรอง
• สถานที่ที่จะติดตั้งถังเก็บน้ำมันเป็นบริเวณใด
• จะมีตู้จ่ายและหัวจ่ายเป็นจำนวนเท่าไร
• งบประมาณในการดำเนินการมีเท่าไร
• จะให้ผู้ใดรับผิดชอบในการขออนุญาตและดำเนินการติดตั้ง เป็นต้น

 

2. ดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการเชื้อเพลิงตามกฎหมาย
ขั้นตอนต่อมาหลังจากทราบข้อมูลเบื้องต้นและตัดสินใจจะติดตั้งถังน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับกิจการแล้ว ก็คือ การยื่นขออนุญาตเพื่อมีถังน้ำมันและเก็บน้ำมันไว้ใช้ในกิจการ ต่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นผู้จัดระเบียบและควบคุมการบรรจุ ขนถ่าย และจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นวัตถุไวไฟ และป้องกันอันตรายจากการเกิดอัคคีภัยหากใช้งานไม่ถูกต้องหรือไม่ได้มาตรฐาน

โดยการพิจารณาจะตรวจสอบจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ประเภทของสถานประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง, ชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิง, ภาชนะที่ใช้ในการบรรจุ, และปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่จะมีไว้ในครอบครอง ซึ่งจะนำไปสู่เกณฑ์การพิจารณาว่าเป็นกิจการควบคุมประเภทใด จาก 3 ประเภท เช่น

- กิจการควบคุมประเภทที่ 1 สามารถประกอบกิจการได้ทันที เช่น ร้านจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรายย่อย ที่ประกอบด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก มีปริมาณไม่เกิน 40 ลิตร, ชนิดไวไฟปานกลาง มีปริมาณไม่เกิน 227 ลิตร, หรือชนิดไวไฟน้อย มีปริมาณไม่เกิน 454 ลิตร เป็นต้น

- กิจการควบคุมประเภทที่ 2 ที่การจะประกอบกิจการประเภทนี้ จะต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เช่น โรงงานขนาดเล็กหรือเพื่อการเกษตร ที่ประกอบด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก มีปริมาณเกิน 40 ลิตร แต่ไม่เกิน 454 ลิตร, ชนิดไวไฟปานกลาง มีปริมาณเกิน 227 ลิตร แต่ไม่เกิน 1,000 ลิตร, และชนิดไวไฟน้อย มีปริมาณเกิน 454 ลิตร แต่ไม่เกิน 15,000 ลิตร เป็นต้น

- กิจการควบคุมประเภทที่ 3 เป็นประเภทที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะประกอบการได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก มีปริมาณเกิน 454 ลิตรขึ้นไป, ชนิดไวไฟปานกลาง มีปริมาณเกิน 1,000 ลิตรขึ้นไป, และชนิดไวไฟน้อย มีปริมาณเกิน 15,000 ลิตรขึ้นไป แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 ลิตร เป็นต้น

เมื่อทราบว่ากิจการของเราจัดอยู่ในกิจการควบคุมประเภทใดแล้ว จึงทำการเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตได้ ณ กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำหรับกิจการที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่นอกเขตกรุงเทพฯ สามารถยื่นได้ที่สำนักงานพลังงานภูมิภาค หรือสำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน

 

3. ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งถังน้ำมันสำหรับกิจการ
สุดท้าย หลังจากดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถทำการก่อสร้างและติดตั้งถังน้ำมันไว้ในกิจการของท่าน เพื่อให้พร้อมใช้ในการเติมเต็มยานพาหนะและการขนส่ง จุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนธุรกิจและกิจการไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จ

และอีกหนึ่งทางเลือกในการมีถังน้ำมันสำหรับใช้ในกิจการที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพียงติดต่อมาที่ บริษัท พีดี เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ซัพพลาย 2018 จำกัด เราพร้อมให้บริการติดตั้งถังน้ำมันและตู้จ่ายไว้ใช้เองในกิจการแบบครบ จบในที่เดียว ตั้งแต่ให้คำปรึกษาในเบื้องต้นไปจนถึงการติดตั้งที่เสร็จสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น

• ผลิต นำเข้า และจำหน่ายถังน้ำมันขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ 500 - 40,000 ลิตร ทั้งถังน้ำมันเหล็ก ถังน้ำมันพลาสติก ถังน้ำมันสแตนเลส ที่สั่งได้ตามความต้องการ
• จำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปั๊มดูดน้ำมัน ตู้จ่ายน้ำมันแบบดิจิทัล/แมคคานิค มิเตอร์วัดน้ำมัน และระบบบริหารจัดการน้ำมัน ฯลฯ- บริการงานเขียนแบบถังน้ำมันและสถานีบริการที่มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเซ็นรับรอง
• บริการขออนุญาตประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง กิจการควบคุมประเภทที่ 2 และ กิจการควบคุมประเภทที่ 3 กับกรมธุรกิจพลังงานด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้บริการทุกท่านทั้งก่อนและหลังการขาย

 

สนใจสอบถามรายละเอียดและราคาติดต่อ :
บจก.พีดีเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ซัพพลาย
โทรศัพท์ : 065-5121818 (ฝ่ายขาย) หรือ 089-9966974 (สายด่วน)
Website : www.pdesupply.com
Email : peerapong.p@pdesupply.com
LINE : @pdengineering